การดูแลต้นไม้ในช่วงฤดูแล้ง
การให้น้ำ
- ให้น้ำครั้งน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำเปลี่ยนช่วงเวลา การให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา และให้น้ำตามความต้องการของพืช โดยเน้นตามช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืช ให้น้ำประหยัดแต่เพียงพอต่อความต้องการของพืช
การใช้วัสดุคลุมดิน
- คลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำ จากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น โดยเฉพาะในดินที่มีลักษณะปนทราย เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีไม่ปล่อยให้ดินแห้งเป็นเวลานาน เพราะพืชอาจเสียหายจากอาการขาดน้ำ
การตัดแต่งกิ่ง
- ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ ช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และลดปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชในช่วงแล้ง เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยชนิดอื่น ๆ
การกำจัดวัชพืชและแนวกันไฟ
- ควรกำจัดวัชพืชภายในบริเวณสวนไม้ผลให้โล่งเตียนทันทีหลังหมดสิ้นฤดูฝน เก็บเศษหญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง และใบไม้แห้ง ออกจากแปลงปลูกเอาไปคลุมดินรอบโคน ตัดใต้บริเวณทรงพุ่มไม้ผล เพื่อป้องกันไฟไหม้สวน เตรียมน้ำ ทราย และอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อม และเก็บไว้ในที่เฉพาะ สามารถนำมาใช้งานได้ทันที ฝึกซ้อมคนงานเพื่อการดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฤดูแล้ง อากาศร้อนจัดและมีใบไม้แห้งมาก มีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
การใส่ปุ๋ย
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยในช่วงแล้งหากน้ำไม่เพียงพอ เพราะจะเป็นการไปกระตุ้นการเจริญเติบโตให้แตกใบอ่อนในช่วงแล้งน้ำน้อย จะทำให้พืชมีน้ำไม่พอใช้มากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและตายได้
การเสริมความแข็งแรงให้พืช
- เสริมด้วยไม้ค้ำยัน และแนวบังลม เนื่องจากช่วงฤดูแล้ง มีโอกาสเกิดลมพายุฟ้าฝนคะนองในระหว่างฤดู กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง หากต้นยังเล็กจะต้องพรางแสงช่วยด้วย เพื่อลดการสูญเสียน้ำของพืช
กรณีที่ไม่มีระบบน้ำหรือน้ำสำรองไว้
- ควรประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ นำน้ำมารดต้นไม้ผลทันที อย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้ง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตรอดผ่านแล้งไปได้
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักพืช จังหวัดสุพรรณบุรี