เตือนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการระบาดของราสนิมขาวในผักบุ้ง
การระบาดของโรคราสนิมขาวในผักบุ้งช่วงหน้าฝน เกิดจากเชื้อรา Albugo ipomoea-aquaticae ทำให้บนใบเป็นจุดเหลือง ใต้ใบจะพบกลุ่มของสปอร์ของเชื้อราสีขาว โรคทำให้ใบหงิกงอ ถ้าอาการรุนแรงใบจะไหม้เสียหาย ต้นชะงักการเจริญเติบโต เชื้อแพร่ระบาดได้ดีในฤดูฝนหรือในสภาพที่มีความชื้นสูง
การป้องกันกำจัด
- ก่อนปลูกควรไถพลิกกลับหน้าดิน ตากแดด ทิ้งไว้ระยะหนึ่งและใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน
- ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค
- คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารเมทาแลกซิส 35% DS อัตรา 7 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
- ไม่หว่านผักบุ้งแน่นเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูงและไม่ควรให้น้ำจนแฉะเกินไป
- กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก
- ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ โดยเฉพาะใบล่าง ๆ เมื่อพบพืชเริ่มแสดงอาการของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคหรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% WG 30 อัตรา กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซมอกชานิล+แมนโคเซบ 8%+64% WP อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณด้านใต้ใบ พ่นซ้ำทุก 5-7 วัน และควรหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 วัน
- หลังการเก็บเกี่ยว ควรนำเศษซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก
- ในแปลงที่พบโรคระบาดรุนแรง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
อาการของโรคราสนิมขาวในผักบุ้ง
- จะพบจุดสีเหลืองที่ด้านบนของใบผักบุ้งจีน ใต้ใบจะมีตุ่มนูนสีขาวขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนของเชื้อรา
- ตุ่มนูนจะขยายใหญ่ขึ้น หากตุ่มขยายมาชนกัน จะเห็นเป็นปื้นสีขาวขนาดใหญ่ ทำให้ใบบิดเบี้ยว หรือเป็นคลื่นไม่เรียบ
- ใบผักบุ้งจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง
- ในบางครั้งพบอาการของโรคที่ก้านใบและลำต้น