หนอนกอข้าว
ลักษณะการทำลาย
หนอนกอ เข้าทำลายข้าวลักษณะเดียวกันโดยหลังหนอนฟักไข่จะเจาะเข้าทำลายกาบใบก่อน ทำให้กาบใบมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ซึ่งจะเห็นเป็นอาการช้ำ ๆ เมื่อฉีกกาบใบจะพบตัวหนอน เมื่อหนอนโตขึ้นจะเข้ากัดกินส่วนของลำต้น ทำให้เกิดอาการใบเหี่ยวในระยะแรก ใบและยอดที่ถูกทำลายจะเหลืองในระยะต่อมา ซึ่งทำให้เกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” (deadheart) ถ้าหนอนเข้าทำลายในระยะข้าวตั้งท้อง หรือหลังจากข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดข้าวลีบทั้งรวง รวงข้าวมีสีขาว เรียกอาการนี้ว่า “ข้าวหัวหงอก” (whitehead)
แนวทางการป้องกัน/กำจัด
- ไขน้ำท่วมและไถดินเพื่อทำลายหนอนและดักแด้ของหนอนกอข้าวที่อยู่ตามตอซัง
- ปลูกพืชอื่นเพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป เพราะทำให้ใบข้าวงาม หนอนกอชอบวางไข่
- ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย เมื่อมีการระบาดรุนแรง
- ไม่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดเม็ดในนาข้าว เพื่อช่วยให้ศัตรูธรรมชาติ พวกแตนเบียนไข่และแตนเบียนหนอนของหนอนกอข้าว สามารถควบคุมประชากรหนอนกอข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 500 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร
- เมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ในระยะข้าว อายุ 3-4 สัปดาห์ หลังหว่าน ให้ใช้สารเคมี เช่น เบนฟราคาร์บ 3% G (กลุ่ม 1) หรือ คาร์โบซัลแฟน 5% G (กลุ่ม 1) ใช้อัตรา 5-6 กก.ต่อไร่ เมทอกซีฟีโนไซด์ (methoxyfenozide)+สไปนีโทแรม (spinetoram) 30% + 6% อัตรา 60 ซีซี/ไร่
เรียบเรียง : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี