หนอนห่อใบข้าว
รูปร่างลักษณะ
หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ ๆ มีสีขาวใส หัวมีสีน้ำตาลอ่อน หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวแถบเหลือง หัวสีน้ำตาลเข้ม หนอนโตเต็มที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส หนอนมีระยะการเจริญเติบโต 5-6 ระยะ ส่วนใหญ่มี 5 ระยะ หนอนวัยที่ 5 เป็นวัย ที่กินใบข้าวได้มากที่สุด
ตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนปีกสัน้ำตาลเหลืองมีแถบสีดำพาดที่ปลายปีก ตรงกลางปีกมีแถบสีน้ำตาลพาดขวาง 2-3 แถบ ขณะเกาะใบข้าวปีกจะหุบเป็นรูปสามเหลี่ยม มักเกาะอยู่ในที่ร่มใต้ใบข้าว เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย เพศเมียวางไข่เวลากลางคืน ประมาณ 300 ฟอง บนใบข้าว
ลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อหนอนห่อใบข้าวจะเคลื่อนย้ายเข้าแปลงนา ตั้งแต่ข้าวยังเล็กและวางไข่ที่ใบอ่อน โดยเฉพาะใบที่ 1-2 จากยอด เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจะแทะผิวใบข้าวส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เห็นเป็นแถบยาวสีขาว ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง หนอนจะใช้เส้นใยดึงขอบใบข้าวทั้งสองด้านเข้าหากันเพื่อห่อหุ้มตัวหนอนไว้หนอนจะทำลายใบข้าว ในระยะข้าวออกรวงหนอนจะทำลายใบธง ซึ่งมีผลต่อผลผลิตเพราะทำให้ข้าวมีเมล็ดลีบ น้ำหนักลดลง
แนวทางการป้องกัน/กำจัด
- หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
- กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย
- เมื่อเริ่มมีการระบาดของหนอนห่อใบในแปลงข้าว ไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเกิน 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อไร่
- ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 500 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร
- เมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ในข้าวอายุ 15-20 วัน ให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น
- ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 30-50 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- เบนซัลแทป (แบนคอล 50% ดับบลิวพี) อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80-110 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร