โรคดอกกระถินในข้าว
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Ustilaginoidea virens (Cke.)
การเข้าทำลาย
ในช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง เชื้อราเข้าทำลายรวงข้าวในระยะเริ่มออกดอก เชื้อราสาเหตุโรค มีลักษณะเป็นผงหรือกลุ่มก้อนขนาดเล็กสีเหลือง พบอยู่ระหว่างเปลือกเมล็ดข้าว ต่อมาเชื้อราจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเจริญเติบโตคลุมเมล็ดข้าวทั้งเมล็ด เมื่อเชื้อราเจริญต่อไป เยื่อหุ้มจะแตกออก เชื้อราจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ถ้าเชื้อราแก่จัด อาจพบเป็นสีดำ สุดท้ายก้อนเชื้อราดอกกระถินจะมีรอยแยกและมีสีเขียวเข้มปนเหลือง ระยะนี้เชื้อราจะปลิวไปกับลม เข้าทำลายเมล็ดข้าว ต้นอื่น ๆ ต่อไปได้
แนวทางการป้องกันกำจัด
- เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก จากแปลงปลอดโรคและจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมการข้าว
- ควรหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่ควรหว่านข้าวแน่นเกินไป หรือใช้วิธีปักดำ
- ในช่วงฝนตกชุก มีความชื้นสูง ลดการให้ปุ๋ย ไนโตรเจน โดยเฉพาะในระยะข้าวตั้งท้อง เพราะจะทำให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายข้าวได้ง่าย และทำให้เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง
กรณีจำเป็นต้องใช้สารเคมี หรือหากจะพ่นสารป้องกันเชื้อราในข้าวระยะตั้งท้องหรือก่อนข้าวออกรวงอย่างน้อย 3-4 วัน แนะนำให้ใช้
- แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 30-40 กรัม
- คลอโรธาโรนิล 75% WP อัตรา 20-25 กรัม
- โพรพิโคนาโซล 25% EC อัตรา 20-25 มล.
- ไดฟีโนโคนาโซล+โพรพิโคนาโซล 15%+15% EC
อัตรา 15 มล. *อัตราส่วนต่อน้ำ 20 ลิตร
**ควรสลับกลุ่มสารทุกการพ่น 2-3 ครั้ง
ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร