การปลูกข้าวแบบนาดำ หมายถึง การทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ก่อน เรียกว่า การเพาะกล้า เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการ จะถอนต้นกล้าไปปักดำในพื้นที่นาที่เตรียมไว้ แต่ข้อเสียวิธีนี้ ต้องใช้แรงงานมาก
ประโยชน์ของนาดำ
- ลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีและสารเคมีทั้งหลาย เนื่องจากต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ โดยไม่มีการชะงัก เพราะระยะห่างของต้นข้าวแต่ละต้นมีความเหมาะสม ส่งผลให้ต้นข้าวไม่ต้องแย่งอาหารกัน ดังนั้น การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีเพียงเล็กน้อย ก็พอเพียงสำหรับการเติบโตของต้นข้าว และยังสามารถควบคุมวัชพืช โดยการขังน้ำได้ตั้งแต่ตอนปักดำ ทำให้ลดการใช้สารกำจัดวัชพืช
- ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของการทำนาหว่าน ซึ่งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ โดยเฉลี่ยไร่ละ 25 กิโลกรัม ขณะที่การทำนาดำ ชาวนาต้องหว่านกล้าก่อนที่จะไปดำนา คิดโดยเฉลี่ยตกไร่ 4 กิโลกรัม
- การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ ของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์จากที่กล่าวไปเบื้องต้น พบว่าการทำนาดำ สามารถลดการใช้สารเคมีลง ดังนั้น เมื่อแปลงนาไหน ที่ทำนาดำจะเห็นว่าเริ่มี หอย กุ้ง ปู ปลา กบ เขียด ให้เห็นในแปลงนา ความอุดมสมบูรณ์และการเกื้อกูลกัน ของระบบนิเวศในแปลงนาเริ่มเกิดขึ้น
ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว