โรคราน้ำค้างในข้าวโพด
ระยะการเจริญเติบโตของพืชในช่วงนี้
เริ่มปลูก-อายุ ประมาณ 30 วัน (เป็นระยะที่อ่อนแอต่อโรคนี้มาก)
ปัญหาที่ควรระวัง
โรคราน้ำค้าง : เชื้อรา Peronosclerospora sorghi
ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ
- โรคเกิดได้ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก โดยพบจุดเล็ก ๆ สีเขียวฉ่ำน้ำบนใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดมีสีเหลืองซีด โดยเฉพาะบริเวณยอด หรือใบลาย เป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่
- ในเวลาเช้าที่มีอากาศค่อนข้างเย็น และความชื้นสูง มักพบส่วนของเชื้อรา ลักษณะเป็นผงสีขาวจำนวนมาก ด้านใต้ใบ อาจพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นเคระแกร็น ข้อถี่ ไม่มีฝัก หรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่จะไม่สมบูรณ์ เช่น มีเมล็ดจำนวนน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1.ควรใช้พันธุ์ต้านทาน และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น
- เมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7-10 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
- เมทาแลกซิล-เอ็ม 35% ES อัตรา 3.5 มิลลิลิตร ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
- ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 30 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
2.ในแหล่งที่เคยมีการระบาดของโรค หากพบว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรคคืออุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง เมื่อข้าวโพด อายุ 5-7 วัน ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ทุก 7 วัน จำนวน 3-4 ครั้ง เช่น
- ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
3. ถอนต้นที่แสดงอาการของโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
4. พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
“เชื้อสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายได้ ตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก ซึ่งการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช หลังจากข้าวโพด อายุ 20 วัน ขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้”
จัดทำโดย : สำนักงานเกษตรอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน