โรคราน้ำค้างในข้าวโพด
เกิดจากเชื้อรา Peronosclerospora sorghi
ลักษณะอาการ : จะพบจุดขนาดเล็กสีเขียวฉ่ำน้ำ โดยเฉพาะใบอ่อน ต่อมาใบข้าวโพดมีสีเหลืองซีดโดยเฉพาะใบยอด
อาการที่เห็นได้ชัดจะพบอาการใบด่างหรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่จะพบส่วนของเชื้อราเป็นผงสีขาวบริเวณใต้ใบ อาการอื่น จะพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นเตี้ยแคระแกร็น ข้อถี่ ไม่ติดฝัก หรือมีฝักที่ติดเมล็ดน้อย/ไม่ติดเมล็ด (ข้าวโพดฟันหลอ) ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ
**ข้าวโพดอายุ 1- 3 สัปดาห์ จะอ่อนแอต่อโรคราน้ำค้างมากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคราน้ำค้างในข้าวโพด
- เป็นแหล่งที่ในรอบปลูกที่ผ่านมาเคยมีโรคราน้ำค้างระบาด หรือในรอบปลูกปัจจุบันมีข้าวโพดแปลงข้างเคียงเกิดโรคราน้ำค้าง และต้องมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะช่วงหลังปลูกจนถึงข้าวโพดอายุ 3 สัปดาห์ เช่น ฝนตกชุก ความชื้นสูง อากาศเย็น เป็นต้น
- ข้าวโพดที่ปลูกช่วงปลายฤดูฝน
- ข้าวโพดที่ปลูกช่วงฤดูแล้งหลังนา ในสภาพที่มีฝนตกชุด อากาศเย็น
วิธีการดูแลรักษา
- คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7-10 กรัม
เมทาแลกซิล-เอ็ม 35% ES อัตรา 3.5 มิลลิลิตร ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 30 กรัม
หากใช้พันธุ์การค้าที่แนบสารคลุกเมล็ดมาด้วย ควรคลุกเมล็ดให้ทั่วก่อนปลูก - หากพบต้นเป็นโรค ให้รีบถอนออกไปทำลายนอกแปลงปลูก
- ปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด
- พ่นด้วยไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20-30 กรัม, เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-40 กรัม (อัตราส่วนต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยพ่นทุก 7 วัน ทุก 1-2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อข้าวโพดอายุ 5-7 วัน
*การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชหลังจากข้าวโพดอายุ 20 วันขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้
เรียบเรียงโดย : สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร