เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการระบาดของหนอนกินใบมะพร้าว
หนอนกินใบมะพร้าว หรือหนอนบุ้งเล็ก เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าวเป็นอาหาร และสามารถบินอพยพได้ระยะสั้นระหว่างสวนมะพร้าว ระยะทางประมาณ 1-1.5 กิโลเมตร โดยในระยะหนอนจะเป็นช่วงวัยที่เข้าทำลายมะพร้าว
ลักษณะอาการ
หนอนจะอาศัยกัดกินอยู่ด้านใต้ใบพืช หนอนขนาดเล็กจะแทะผิวเป็นทางยาว หนอนขนาดใหญ่จะกัดกินขอบใบทำให้ใบขาดแหว่ง โดยกัดกินใบจากล่างไปยอดทำให้ใบเหลืองและแห้ง
พืชอาหาร ได้แก่ มะพร้าว ปาล์ม ต้นสาคู กล้วย อ้อย และใบล้านใหญ่
วิธีป้องกันกำจัด
- ตัดทางใบมะพร้าวที่ถูกหนอนกินใบมะพร้าวไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลง
- เก็บเศษซากพืชนำออกไปทำลายทิ้งนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์
- หากพบการระบาดรุนแรง ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ ดังนี้
3.1 มะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารเคมีอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ใช้ดอกสว่านขนาด 4-5 หุน เอียงลง 45 เจาะลึก 10 เซนติเมตร เจาะ 2 ให้รูอยู่ตรงกันข้ามกัน ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร จากนั้นใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน
3.2 มะพร้าวที่มีความสูงน้อยว่า 12 เมตร เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล ให้ใช้วิธีการพ่นสารทางใบ โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ดังนี้
– ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม
– คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
– สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
– ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร
**โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน
เรียบเรียง : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี