หนอนคืบกินใบเงาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyodes scrobiculata (Fabricius)
รูปร่างลักษณะ
หนอนคืบกินใบ ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีน้ำตาลอ่อน ลำตัวมีขนสีเหลืองปกคลุม ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามใบอ่อน ยอดอ่อน
- ไข่มีลักษณะ กลม สีขาวนวล ไม่มีสิ่งปกคลุม ระยะไข่ 3-5 วัน
- หนอนที่ฟักออกมาไข่ใหม่ ๆ มีสีเขียวอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลข้างลำตัว เริ่มกัดกินใบเงาะทันที
- เมื่อหนอนโตขึ้นจะมีสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำตาล สีเขียวอ่อน สีเหลืองปนน้ำตาล เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว
- เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร อายุหนอน 14-17 วัน แล้วจะเข้าดักแด้ โดยชักใยนำใบมาห่อหุ้มตัว ระยะดักแด้ 10-12 วัน ตัวเต็มวัยมักหลยซ่อนตามต้นหญ้า และวัชพืชอื่น ๆ ในบริเวณสวน
ลักษณะการทำลาย
หนอนคืบกินใบสามารถทำความเสียหายให้กับพืชได้มากในระยะแตกใบอ่อน โดยตัวหนอนที่ออกจากไข่จะเริ่มกัดกินใบอ่อน และเมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกินทั้งใบอ่อน ใบเพสลาดและใบแก่
วิธีป้องกันกำจัด
1.อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
- ตัวห้ำ ได้แก่ มดแดง มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต มวนกิ่งไม้ และต่อรัง
- ตัวเบียน ได้แก่ แตนเบียนหนอน Apanteles sp. และแตนเบียนดักแด้ Brachymeria sp.
2.หมั่นสำรวจแปลงสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในระยะแตกใบอ่อน ถ้าหากโคนต้นเงาะโล่งเตียนไม่มีหญ้า ให้เขย่ากิ่งเงาะ ตัวหนอนคืบจะทิ้งตัวลงที่พื้นดิน สามารถจับทำลายได้ หรือใช้กับดักแสง ไฟล่อตัวเต็มวัยในช่วงกลางคืน (18.00 น. ถึง 20.00 น.)
3.ใช้สารสกัดสะเดา โดยนำเมล็ดสะเดาบด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำสารสะเดาที่ได้ผสมกับสารจับใบไปฉีดพ่นให้ทั่วยอดอ่อนและทรงพุ่ม
4.พ่นเชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบบริเวณใบอ่อน และทรงพุ่ม ทุก 3-7 วัน
5.พ่นด้วยสารเคมี เช่น carbaryl 85% WP อัตรา 45-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ที่มา : สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี