เตือนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำในมะพร้าวและพืชตระกูลปาล์ม
เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนหัวดำในมะพร้าว/ปาล์มน้ำมัน สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว จะพบตัวหนอนเข้าทำลายแทะกินผิวใต้ทางใบ จากนั้นตัวหนอนจะถักใยโดบใช้มูลที่ถ่ายออกมาผสมเส้นใยที่สร้างขึ้นมาทำอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามใต้ทางใบ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบแก่
การป้องกันกำจัด
1.ตัดใบที่มีหนอนหัวดำลงทำลาย นำลงมาเผาหรือฝังทำลาย
2.การพ่นด้วยชีวภัณฑ์ “บีที” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วยสารจับใบ 5 มิลลิลิตร ฉีดพ่นต้นละ 3- 5 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน (ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัด)
3.การใช้แตนเบียนควบคุมหนอนหัวดำ
- แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า ทำลายหนอนหัวดำในระยะไข่ อัตราไร่ละ 20,000 ตัว จำนวน 12 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกัน 15 วัน
- แตนเบียนหนอนบราคอน ทำลายหนอนหัวดำในระยะหนอน อัตราไร่ละ 200 ตัว/ไร่ จำนวน 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
4.การควบคุมด้วยสารเคมี โดยวิธีฉีดเข้าลำต้น
มะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น (วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวที่สูงน้อยกว่า 12 เมตร มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล)
มะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร ให้พ่นทางใบด้วยสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
- ฟลูเบนไดอะไมค์ 20% WG อัตรา 5 กรัม
- คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
- สปีนโนแซด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
โดยพ่นทางใบมะพร้าว จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน
ที่มา : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี