เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (Durian leafhopper)
วงจรชีวิต
- ตัวเต็มวัย หรือวัยเจริญพันธุ์ : มีอายุเฉลี่ยราว 21-28 วัน โดยเพศเมียมีอายุยืนยาวกว่าเพศผู้ ปกติเพศเมียมีสัดส่วนมากกว่าเพศผู้ 1.3 ต่อ 1 (ตัว)
- ไข่ : เพศเมีย วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ในเนื้อเยื่อเส้นใบ หรือบางครั้งวางไข่ที่ก้านใบอ่อน ๆ เพศเมีย 1 ตัว วางไข่เฉลี่ย 15 ฟอง ไข่ใช้เวลา 6-7 วัน จึงฟักออกมาเป็นตัวอ่อน
- ตัวอ่อน : ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝอยไม่มีปีก เมื่อแรกฟักจะมีรยางค์ที่ต่อมาพัฒนาเป็นปีกคล้ายลูกไก่ที่พึ่งฟัก ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโต 5 วัย โดยการลอกคราบคล้ายปูนิ่ม เมื่อลอกคราบแต่ละครั้งตัวจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ตัวอ่อนนี้มีน้ำลายที่เป็นพิษเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย และมีอายุเฉลี่ย 7-8 วัน แต่อาจนานมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
ลักษณะการทำลาย
- เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน พบการทำลายในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อน โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ และปล่อยสารพิษออกมาทำให้ใบเหมือนถูกน้ำร้อนลวก เหี่ยวและค่อย ๆ แห้งไป ขอบใบจะเป็นสีน้ำตาลแดงและม้วนงอขึ้น แล้วแห้งลามไปทั้งใบ ทำให้ทุเรียนชะงักการเจริญเติบโต
แนวทางการป้องกันกำจัด
เขตกรรม
- หมั่นสำรวจแปลง หากพบเพลี้ยจักจั่นฝอย ให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายออกนอกแปลง
วิธีกล
- ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองดักจับตัวเต็มวัย เพื่อลดปริมาณตัวเต็มวัยของเพลี้ยจักจั่นฝอย
ชีววิธี
- การใช้สารสกัดจากพืช เช่น สารสกัดสะเดา หางไหล โล่ติ๊น หรือน้ำหมักจากข่าแดง ตะไคร้หอม บอระเพ็ด เป็นต้น ฉีดพ่นเพื่อไล่เพลี้ยจักจั่นฝอย
- พ่นเชื้อราบิวเวอเรีย/เมตาไรเซียม อัตรา 1 กก. น้ำ 80 ลิตร ทุก 15 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง หรือจนกว่าปริมาณเพลี้ยจักจั่นฝอยจะลดลง
สารเคมี การใช้สารเคมี เช่น สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดกลุ่มเพลี้ยจักจั่น ได้แก่
- กลุ่ม 1 เช่น คาร์บาริล คาร์โบซัลแฟน เบนฟูราคาร์บ โพรฟิโนฟอส โพรไทโอฟอส ไดเมโทเอต โอเมโทเอต ไตรคลอร์ฟอน
- กลุ่ม 2 ฟิโพรนิล อีทิโพรล
- กลุ่ม 3 ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เดลทาเมทริน ไบเฟนทริน อีโทเฟนพร็อก
- กลุ่ม 4 นีโอนิโคตินอยด์ เช่น อิมิดาโคลพริด ไทอะมีโทแชม โคลไทอะนิดิน ไทอะโคลพริด
- กลุ่ม 6 อะบาเม็กติน อีมาเมกติน
- กลุ่ม 9 ไพมีโทรซีน
- กลุ่ม 14 คาร์แทป
- กลุ่ม 15 คลอร์ฟลูอาชูรอน โนวาสูรอน ลูเฟนนูรอน ไตฟลูเบนซูรอน
- กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน
- กลุ่ม 21 ไพริดาเบน โทลเฟนไพแรด
- กลุ่ม 22 อินดอกชาคาร์บ
- กลุ่ม 29 ฟลอนิคามิด
การใช้สารเคมีกำจัดแมลงเพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาของเพลี้ยจักจั่น ควรพ่นสารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันสลับกันตามวงจรชีวิตของแมลง สำหรับเพลี้ยจักจั่นมีวงจรชีวิตประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ควรใช้สารที่มีกลไกเดียวกันไม่เกิน 1 เดือน เดือนถัดไปควรเปลี่ยนกลุ่มสารเคมีที่มีกลไกไม่ซ้ำกัน
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา