เพลี้ยหอยเกล็ด พบการระบาดในแปลงมันสำปะหลังที่ใกล้เก็บเกี่ยว หรือพบในต้นมันสำปะหลังที่กองสุมไว้ทำพันธุ์ โดยเพลี้ยหอยเกล็ดมีลักษณะเกล็ดสีขาวนูน ขึ้นปกคลุมเกือบทุกส่วนของมันสำปะหลัง ทั้งส่วนยอด ลำต้น กิ่ง เหง้า และหัว กรณีที่มีการปลูกมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยหอยเกล็ดติดไปกับท่อนพันธุ์ การระบาดจะมีความรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 20% ส่วนลักษณะการทำลาย เพลี้ยหอยเกล็ดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ใบเหลืองและร่วง แคระแกร็น หากมีเพลี้ยหอยเกล็ดปกคลุมทั้งลำต้น ทำให้ลำต้นแห้งตาย การแพร่ระบาดติดไปกับท่อนพันธุ์ และเกษตรกรที่ปฏิบัติงานในแปลงที่มีการระบาดและเครื่องมือทางการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1) สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
2) เลือกต้นมันสำปะหลังที่ไม่มีเพลี้ยหอยเกล็ดไปทำพันธุ์
3) อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส Pharoscymnus simmondsi Ahmad (แมลงตัวห้ำ)
4) แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยวิธีการเดียวกันกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ด้วยสารไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (แช่ท่อนพันธุ์ 10 นาที)
ที่มา : https://doaenews.doae.go.th/archives/25896


