เพลี้ยไฟฝ้าย ในพืชตระกูลแตง
ชนิดพืชที่อาจเกิดผลกระทบ
แตงโมและพืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีนและบวบ
ปัญหาที่ควรระวัง
เพลี้ยไฟฝ้าย
ระยะการเจริญเติบโตของพืชในช่วงนี้
ทุกระยะการเจริญเติบโต
ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนในระยะแตงโมทอดยอด ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
ลักษณะอาการที่เกิดจากเพลี้ยไฟฝ้ายเรียกว่า “ยอดตั้ง” หากเพลี้ยไฟฝ้ายระบาดในช่วงอายุ 1 เดือน หลังจากปลูกจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ถ้าพ้นช่วงนั้นแล้วแตงโมจะทอดยอดก็จะทนการทำลายได้ดีกว่า มักพบการระบาดในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
- ทำการรองก้นหลุมปลูกก่อนการย้ายปลูกด้วยสารฆ่าแมลง เช่น
- คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% G อัตรา 3 กรัม ต่อหลุม
- คาร์แทปไฮโดรคลอไรด์/ไอโซโปรคาร์ป 3% /3% GR อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม
- ไดโนทีฟูแรน 1% G อัตรา 2 กรัม ต่อหลุม หรือ เบนฟูราคาร์บ 3% G อัตรา 2 กรัมต่อหลุม
เมื่อใส่สารลงในหลุมแล้วให้โรยดินกลบสารบาง ๆ ก่อนทำการย้ายกล้าลงหลุม เพื่อป้องกันรากพืชสัมผัสสารโดยตรง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อพืชได้
- สุ่มสำรวจแตงโม 100 ยอดต่อไร่ ทุกสัปดาห์
โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ เมื่อพบเพลี้ยไฟฝ้าย เฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น
- สไปนีโทแรม 12 % SC อัตรา 15-20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 30-40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40-50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- อีมาเมกตินเบนโวเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
- อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
ควรพ่นสารแบบสลับกลุ่มสารตามกลไกการออกฤทธิ์ ทุกรอบ 14 วัน โดยพ่นสารแต่ละกลุ่มไม่เกิน 3 ครั้งต่อรอบ
จัดทำโดย : สำนักงานเกษตรอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน