แผ่นพับที่ 5/2567 แป้งเท้ายายม่อม ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร จังหวัดชลบุรี
“เท้ายายม่อม” พืชพื้นเมืองประเภทแป้งชนิดหนึ่ง เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติด้านพืชพรรณที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพืชท้องถิ่นในประเทศไทย พบมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนในภาคกลางและภาคตะวันออก จะพบขึ้นกระจายในธรรมชาติบริเวณป่าผลัดใบต่าง ๆ ป่าดิบแล้งที่เป็นดินทราย และบริเวณที่มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกพบได้ตั้งแต่ป่าละเมาะ หาดทราย ไปจนถึงบนเขาหินปูนที่ไม่สูงมากนัก
เท้ายายม่อมจัดเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียวโดยธรรมชาติ มีระยะเวลาการเจริญเติบโตอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นไปจากเมล็ดเป็นพืชที่มีหัวสะสมแป้ง นิยมนำหัวมาผลิตเป็นแป้ง เรียกว่า “แป้งเท้ายายม่อม” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการทำมาแต่โบราณ โดยแป้งที่ได้จะมีเนื้อละเอียด เมื่อถูกความร้อนจะมีความใส แวววาว และหนืดเหนียวพอเหมาะ นิยมนำมาทำขนมหวาน
เรียบเรียง : กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร