โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน
เชื้อสาเหตุ : Phytophthora palmivora
ลักษณะการทำลาย
อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น
ระยะแรกจะแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่งหรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อย ๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย
อาการที่ราก
เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีด ไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น ใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก จะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล
อาการที่ใบ
ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยวเหลือง บริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้น อย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน
แนวทางแก้ไข/ป้องกัน
- แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี
- ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่
3.ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาฉีดพ่น อัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือใช้ทาบาดแผลแบบเข้มข้น โดยการถากเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรคออกบาง ๆ - การใช้สารเคมี
- เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น 20 มล. และ/หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% W
- เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูด ผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP, ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG, เมทาแลกซิล 25% WP, แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG, โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง
- หากพบโรค บริเวณกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารเมทาแลกซิล 25% WP หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP ให้ทั่ว ทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน
- หากต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดดินในหลุมและบริเวณโดยรอบด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP หรือ เมทาแลกซิล 25% WP
ที่มา : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี