คำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่าง
เชื้อสาเหตุ : เกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด ได้แก่ Curvularia lunata, Cercospora oryzae, Bipolaris oryzae, Trichoconis padwickii, Fusarium semitectum, Sarocladium oryzae
- พบแผลเป็นจุดสีน้ำตาล หรือสีดำที่เมล็ด
- บางครั้งพบสีเทาปนชมพูบนเมล็ด เนื่องจากมีเชื้อราหลายชนิดที่เข้าทำลาย จึงเกิดอาการหลายลักษณะ
- การเข้าทำลายของเชื้อราส่วนใหญ่ จะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม
- อาการเมล็ดด่างจะปรากฎเด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว
การแพร่ระบาด
- เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม และติดไปกับเมล็ด
คำแนะนำในการป้องกันกำจัด
- คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกจากแปลงที่ไม่เป็นโรค
- หลีกเลี่ยงพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรค เช่น สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90 เป็นต้น หรือถ้าปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอ ควรหมั่นสำรวจแปลง และเฝ้าระวังการเกิดโรค
ป้องกันการเกิดโรค โดยแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูก ในอัตราเชื้อไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อเมล็ดพันธุ์ข้าว 100 กิโลกรัม หากฉีดพ่น ใช้ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร
คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม ในอัตรา 3 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
ในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องออกรวง หากมีฝนตกชุก ควรป้องกันการเกิดโรค โดยพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดฟีโนโคนาโซล+โพรพิโคนาโซล หรือ โพรพิโคนาโซล+โพรคลอราซ หรือ คาร์เบนดาซิม โดยวิธีการใช้และอัตราการใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากบนภาชนะบรรจุ
เรียบเรียง : กลุ่มส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านอารักขาพืชและดินปุ๋ย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร