โรคเมล็ดด่าง
สาเหตุ เชื้อราหลายชนิด โดยมีเชื้อราสาเหตุหลัก 6 ชนิด ได้แก่
Curvularia lunata, Cercospora oryzae, Bipolaris oryzae, Fusarium semitectum, Trichoconis padwickii และ Sarocladium oryzae
ลักษณะอาการ
ในระยะออกรวง พบแผลจุดสีต่าง ๆ เช่น จุดสีน้ำตาลหรือดำลายสีน้ำตาลดำหรือสีเทาปนชมพูที่เมล็ดข้าว การเข้าทำลายของเชื้อรา มักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าว เริ่มเป็นน้ำนม อาการเมล็ดด่าง จะชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว
การแพร่กระจาย
เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม น้ำ ติดไปกับเมล็ดพันธุ์และสามารถแพร่กระจายในยุ้งฉางได้ เชื้อราสาเหตุบางชนิดสามารถสร้างสารพิษ (toxin) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
แนวทางการป้องกันกำจัด
- เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก จากแปลงปลอดโรคและจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมการข้าว
- คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์ม่า (แบบเชื้อสด) อัตรา 200-400 กรัม/พันธุ์ข้าวปลูก 1 กระสอบ
- ไม่หว่านข้าวแน่นเกินไป โดยอัตราเมล็ดพันธุ์แนะนำไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือแนะนำให้ใช้การปักดำ
- ถ้าพบการระบาดของโรคจากเชื้อราในระยะต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง ให้พ่นสารป้องกันเชื้อรา เช่น โพรพิโคนาโซล, โพรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล, โพรพิโคนาโซล+โพรคลอราซ, ฟลูซิราซอล, ทีบูโคนาโซล, แมนโคเซบ+เมทาแลคซิล
ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร