โรคแส้ดำอ้อย
สาเหตุ : เชื้อรา Ustilago scitaminea
การแพร่ระบาด
เชื้อรานี้จะอาศัยอยู่ในทุกส่วนของพืช ติดอยู่กับตอเก่าในแปลง และท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคผงสปอร์จากแส้ดำจะระบาดโดยปลิวติดไปกับลมและฝน นอกจากนั้นเชื้อราจะอาศัยอยู่ในดินที่อยู่ในเขตแห้งแล้งได้นาน
ลักษณะอาการ
ต้นอ้อยส่วนยอดผิดปกติเป็นก้านแข็งและยาวคล้ายแส้สีดำ ตอที่เป็นโรครุนแรงจะแตกหน่อมาก แคระแกร็นคล้ายตอตะไคร้ทุกยอดจะสร้างแส้ดำแล้วแห้งตายทั้งกอ พันธุ์ต้านทานโรคที่ปลูกในปีแรก อาจมีอาการแส้ดำเพียงบางยอด เจริญเติบโตได้ตามปกติและในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคจะมีอาการลำต้นผอมเรียว ใบเล็กแคบยาวคล้ายต้นหญ้าพง ให้ผลผลิตน้อย ความเสียหายและความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นในอ้อยตอรุ่นต่อไป
การป้องกันกำจัด
- ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบและฉีดพ่นในเวลาเย็น
- เลือกใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น อู่ทอง 1, อู่ทอง 2, อู่ทอง 3
- ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
- ในพื้นที่ที่มีโรคระบาด ถ้าเลือกใช้พันธุ์ที่ไม่ทราบข้อมูลความต้านทานควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100-200 ลิตร ก่อนปลูกหรือแช่ในสารเคมี เช่น ไตรอะไดมีฟอน (ไบลีตัน 25% wp) โปรพิโคนาโซล (ทิลท์, เดสเมล) อัตรา 48 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 30 นาทีก่อนปลูก
เรียบเรียงโดย : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี