โรคใบขาวอ้อย
สาเหตุ เชื้อไฟโตพลาสมา
ลักษณะอาการ : พบในอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต พบอาการใบสีขาว สีเขียวอ่อนหรือสีขาวสลับสีเขียวอ่อน ใบมีขนาดเล็กเป็นฝอย แตกกอมาก ไม่เจริญเติบโตและตาย
การแพร่ระบาด : ระบาดได้ทางท่อนพันธุ์อ้อยและระบาดผ่านแมลงพาหะ 2 ชนิด ได้
- เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาล
- เพลี้ยจักจั่นหลังขาว
แนวทางการป้องกันกำจัด
- ใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรคจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และท่อนพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค เกษตรกรบางรายอาจจะต้องแบ่งพื้นที่สำหรับทำแปลงท่อนพันธุ์อ้อย เพื่อลดต้นทุนการผลิต
- การเลือกช่วงปลูกอ้อยให้เหมาะสม และดูแลรักษาอ้อยให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรง
- พักแปลงและปรับปรุงบำรุงดิน โดยไถกลบเศษซากใบอ้อย เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
- กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของแมลงพาหะ เช่น หญ้าตีนนก หญ้าแพรก หญ้าปากควาย
- หมั่นสำรวจตรวจแปลงโดยสุ่มนับกออ้อย เมื่อพบอ้อยแสดงอาการใบขาว ให้ขุดทั้งกอและทำลายนอกแปลง หากพบพื้นที่ที่มีการระบาดทั้งแปลงหรือเกินครึ่งของพื้นที่ให้ไถทิ้ง นำท่อนพันธุ์ทั้งหมดเผาทำลาย คราดตอเก่าออกให้หมด
- กำจัดแมลงพาหะโดยใช้กับดักแสงไฟ (black light blue trap) ขนาด 20 วัตต์ เวลา 18.00-20.00 น. โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคมจะพบแมลงจำนวนมาก
เรียบเรียงโดย : สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร