โรคใบจุดขอบใบไหม้ในทุเรียน
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Phomopsis sp. โดยเชื้อจะเข้าทำลายที่ปลายใบและขอบใบไม้ จุดที่เกิดโรคจะมีเนื้อใบไม้ที่แห้งเป็นสีน้ำตาลแดงก่อนและต่อมาเปลี่ยนเป็นสี ขาวอมเทา และเมื่อเชื้อเจริญเติบโตจะทำความเสียหายกับใบทุเรียน โรคใบไหม้ แพร่ระบาดไปโดย ลม ฝน และ เนื้อเยื่อใบที่แห้ง
สาเหตุโรค
ส่วนมากเชื้อจะเข้าทำลายที่บริเวณปลายใบไม้และขอบใบไม้ก่อน เกิดอาการปลายใบแห้ง และ ขอบใบแห้ง ที่จุดเชื้อสาเหตุเข้าทำลาย เนื้อใบส่วนนั้นจะแห้งเป็นสีน้ำตาลแดงในระยะแรก และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเทา และเชื้อจะเจริญพัฒนาทำความเสียหายกับใบทุเรียน ขยายขนาดของพื้นที่เนื้อใบแห้งออกไปเรื่อยๆ เนื้อใบส่วนที่แห้งสีขาวอมเทามีการสร้างส่วนขยายพันธุ์เป็นเม็ดสีดำกระจัดกระจายเต็มพื้นที่
การแพร่ระบาดของโรค
ส่วนขยายพันธุ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะแพร่ระบาดไปโดยลม และ ฝน และ จากเนื้อเยื่อใบที่แห้งและหล่นตกค้างอยู่มี่ใต้โคนต้น เชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่
แนวทางการจัดการโรคใบจุด ขอบใบไหม้
เมื่อพบการระบาดของโรค ควรตัดแต่งกิ่งที่ป็นโรค เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุในแปลงปลูก แล้วพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ
กำจัดเศษซากของต้นทุเรียน ที่ตัดแต่งกิ่งออกจากแปลงปลูกให้หมด อย่าปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นแหล่งสะสมโรคและแหล่งแพร่กระจายโรค ในช่วงที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมเช่นอากาศแล้งจัดๆ เศษซากพืชที่เป็นโรคเหล่านี้จะเป็นแหล่ง พักตัวของเชื้อสาเหตุโรคต่างๆ
สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ เช่นสารกลุ่ม 1( เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม ไธอะเบนดาโซล ไทโอฟาเนทเมทิล) สารกลุ่ม 3 ( ไตรฟอรีน โพรคลอราช ไดฟิโนโคนาโซล อีพ๊อกซีโคนาโซล เฮกซาโคนาโซล ไมโคลบิวทานิล โพรพิโคนาโซล ทีบูโคนาโซล และ เตตรานาโซล เป็นต้น ) และสารกลุ่ม 11 ( อะซ๊อกซีสโตรบิน ไพราโคลสโตรบิน ครีโซซิมเมทิล และ ไตรฟล๊อกซีสโตรบิน เป็นต้น) และ สลับด้วยสารประเภทสัมผัส เช่น สารกลุ่มคอปเปอร์ แมนโคเซ็บ โพรพิเนป และ คลอโรทาโลนิล เปินต้น
ภาพจาก : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย