ใบจุดซิก้าโทก้าสีเหลือง
เกิดจากเชื้อรา Cercospora musae (Mycosphaerella musicola) พบในสภาพอากาศฝนตกหนักสลับกับอากาศร้อน แปลงที่มีการปลูกกล้วยในระยะชิด ไม่มีการจัดการแปลงที่ดี
ลักษณะอาการ
- อาการเริ่มแรก : พบจุดเล็ก ๆ สีเหลืองทั่วใบ ต่อมาจุดจะขยายยาวไปตามเส้นใบกล้วย ขนาดแผลจะใหญ่ขึ้น แผลมีรูปร่างเป็นรูปไข่ กลางแผลแห้งมีสีน้ำตาลปนเทา รอบแผลมีวงสีเหลือง
- อาการรุนแรง : ใบจะแสดงอาการเหลืองทั้งใบ ขอบใบแห้งและใบฉีกขาด บริเวณใบที่ฉีกขาดจะเป็นสีดำ
- ผลกระทบต่อผลผลิต : ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี การออกดอก ติดผลติดเครือไม่ปกติ ผลผลิตที่ได้ไม่สมบูรณ์ ผลกล้วยมีขนาดเล็กลง ถ้าพบอาการในช่วงที่กล้วยติดเครือ จะทำให้ผลกล้วยสุกแก่เร็วกว่าปกติ กล้วยไม่ได้คุณภาพ
แนวทางการดูแลรักษา
- สำรวจแปลงกล้วยอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- ตัดแต่งใบกล้วยในแต่ละต้นหรือแต่ละกอไม่ให้แน่นเกินไป เพื่อลดความชื้นและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค การสะสมโรค โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- หากพบใบกล้วยมีอาการโรค ให้รีบตัดใบที่เป็นโรคทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันโรคพืช ได้แก่ โพรคลอราซ 50% WP อัตรา 30-35 กรัม, ทีบูโคนาโซล 43% SC อัตรา 25-30 มล. และแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 30-40 กรัม โดยพ่นให้ทั่วต้นที่เป็นโรคและทั่วทั้งแปลง
- บำรุงต้นกล้วยให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการเติมปุ๋ยทั้งปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี และสามารถบำรุงต้นกล้วย โดยพ่นปุ๋ยทางใบและฮอร์โมนบำรุงพืชได้
ที่มา : สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกำแพงเพชร