เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการระบาดของไวรัสใบด่างในมะเขือ
ลักษณะอาการ
อาการเริ่มแรกพบใบยอดอ่อนเหลืองทีละยอด จนเหลืองหมดทั้งต้น ผลของมะเขือเป็นสีเหลืองด่าง ต้นชะงักการเจริญเติบโต มีอาการที่พบในส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น ผลผลิตบิดเบี้ยว ขนาดเล็กกว่าปกติ แต่ถ้าเกิดกับมะเขือที่ยังเล็กและไม่สมบูรณ์ จะไม่ให้ผลผลิตเลย หากทิ้งไว้นานจำนวนต้นที่เป็นโรค จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการเหล่านี้เกิดหลังจากแมลงพาหะ คือ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาว เข้าทำลายพืช
วิธีป้องกันกำจัด
- ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
- คัดเลือกกล้ามะเขือที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก
- หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกเพื่อลด แหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบ กา กะเม็ง หญ้ายาง กระทกรกลำโพง โทงเทง และขี้กาขาว
- ตรวจแปลงสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ถอนแล้ว นำไปทำลายนอกแปลงปลูก
- เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้ โดยพ่นสารฆ่าแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหนะนำโรค เช่น บูโพรเฟ ซิน 40% SC อัตรา 25 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลอนิคามิด 50% WG อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรเตตระแมท 15% OD อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไบเฟนทริน 2.5% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ น้ำมันปิโตรเลียม เช่น ไวต์ออยล์ 67% EC อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- ไม่ปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค ได้แก่ พืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ พริก ขึ้นฉ่าย ยาสูบ งา กะเพราขาว ตำลึง หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน เป็นต้น ใกล้แปลงปลูกมะเขือ
- แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยว ผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกมะเขือซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืช อาศัยของเชื้อสาเหตุโรค
เรียบเรียงโดย : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี