ในสภาพอากาศที่มีน้ำค้างจัด จนถึงช่วงสาย อากาศค่อนข้างเย็น ชาวนาควรระวังการระบาดของโรค
โรคขอบใบแห้ง
สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย
ลักษณะอาการ
ทำลายระยะกล้าถึงออกรวง อาการพบเป็นแผลช้ำที่ขอบใบ ต่อมาจุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรค จะแห้งเร็วและสีเขียวจะจางลงกลายเป็นสีเทา ๆ ในกรณีที่ต้นข้าวมีความอ่อนแอต่อโรค ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้น
การป้องกันกำจัด
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณมาก
- สารเคมีป้องกันกำจัด ซิงค์ไทอะโซล, เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต+เตทตะไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์
โรคไหม้ข้าว
สาเหตุ : เชื้อรา
ลักษณะอาการ
ทำลายระยะกล้าถึงออกรวง ใบเป็นจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา หัวท้ายแหลมตรงกลางแผลมีจุดสีเทา กรณีที่โรคระบาดรุนแรงแผลขยายติดกัน กล้าข้าวจะแห้งฟุบตายทั้งกอ อาการคล้ายถูกไฟไหม้
- ระยะแตกกอ อาการของโรคพบได้ที่กาบใบ ข้อต่อใบและข้อต่อของลำต้น
- ระยะออกรวง มีแผลช้ำที่คอรวง เกิดเมล็ดลีบ ถ้าข้าวเริ่มโน้มรวงเกิดแผลช้ำที่คอรวงทำให้รวงหัก
การป้องกันกำจัด
- คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันเชื้อรา
- ไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไป
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณมาก
- สารเคมีป้องกันจำกัด ไตรไซคลาโซล, ไอโซโปรไธโอเลน, คาร์เบนดาซิม
โรคใบจุดสีน้ำตาล
สาเหตุ : เชื้อรา
ลักษณะอาการ
ทำลายระยะกล้าถึงออกรวง มีลักษณะจุดสีน้ำตาลคล้ายสนิม รูปกลมหรือรูปไข่ ที่ใบแผลมีสีเหลือง หากพบแผลที่เกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก เรียก โรคเมล็ดด่าง ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีจะทำให้เมล็ดหักง่าย
การป้องกันกำจัด
- ปรับปรุงบำรุงดิน โดยการไถกลบฟาง
- เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อลดความรุนแรงของโรค
- คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา
- สารเคมีป้องกันกำจัด คาร์เบนดาซิม, แมนโคเซบ, โพรพิโคนาโซล
เรียบเรียงโดย : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี