ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เฝ้าระวังการระบาดของด้วงหนวดยาว พบการระบาดในแหล่งปลูกทุเรียนตลอดทั้งปี โดยตัวหนอนจะเข้าดักแด้และออกเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ด้วงหนวดยาว มีตัวเต็มวัยสีน้ำตาล มีจุดสีส้มหรือเหลืองกระจายอยู่ทั่วปีก เพศผู้มีหนวดยาวกว่าลำตัว เพศเมียหนวดเท่ากับหรือสั้นกว่าลำตัว จับคู่ผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลากลางคืน โดยใช้ปากที่มีเขี้ยวแข็งแรงขนาดใหญ่ กัดเปลือกไม้เพื่อวางไข่แล้วกลบด้วยขุยไม้ ชอบวางไข่ซ้ำบนต้นเดิม ไข่คล้ายเมล็ดข้าวสารสีขาวขุ่น หนอนที่ฟักใหม่จะมีสีขาวครีม ลักษณะการทำลายตัวหนอนจะกัดกินชอนไชใต้เปลือกไม้ และถ่ายมูลออกมาเป็นขุยไม้ติดอยู่ภายนอกอาจควั่นรอบต้น ทำลายท่อน้ำท่ออาหาร ต้นทุเรียนทรุดโทรมและยืนต้นตายได้ ตัวเต็มวัยมีอายุได้นานกว่า 6 เดือน ทำในต้นหนึ่ง ๆ จึงพบไข่และหนอนระยะต่าง ๆ กัน เป็นจำนวนมาก สวนที่มีการระบาดรุนแรงพบหนอนด้วงหนวดยาววัยต่าง ๆ ในต้นทุเรียนเฉลี่ย 40-50 ตัวต่อต้น วิธีป้องกันกำจัด ให้หมั่นออกตรวจบริเวณสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบขุยมูลตัวหนอน ให้ใช้มีดคมถากเปลือกต้นทุเรียนออกบาง ๆ แล้วฉีดพ่นด้วยอิมิดาโคลพริด หรือคอนฟิดอ 10 เปอร์เซ็นต์ เอสแอล อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ 2 ครั้ง สัปดาห์ละครั้ง จะทำให้แมลงในวัยที่เป็นตัวหนอนตายไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ แนะนำให้ใช้แสงไฟล่อแมลงตัวเต็มวัยด้วยการติดไฟนีออน พร้อมฝาครอบด้านบน บังคับให้แสงส่องลงพื้นดิน ตั้งไว้สูงจากพื้น 1.50 เมตร ส่วนใต้หลอดนีออน ใช้ถัง 200 ลิตร ผ่าครึ่ง พร้อมน้ำผสมน้ำมันขี้โล้ รองรับแมลงตัวเต็มวัยที่ตกลงในถังและจับทำลาย หมั่นปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น การระบาดของด้วงหนวดยาวเจาะต้นทุเรียนจะหมดไปในที่สุด เรียบเรียง : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี
ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน
ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มอารักพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กรมส่งเสริมการเกษตรhttps://www.facebook.com/profile.php?id=100068112708969