หนอนแมลงวันลาย
หนอนแมลงวันลายภัยเงียบฤดูฝนของเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรง จัดทำโดย : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ https://www.facebook.com/bee.centercm/posts/pfbid02xfpWDC7PZdGXcoahyshmh8MhnkWXjQ9NnkNMCtXdh8Rh4pMboJhpfHpY5LYcQdNAl หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly: BSF) ชื่อวิทยาศาสตร์ Hermetia ilucens มักเกิดการระบาดในช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นสูง ในรังชันโรงทีมีความอ่อนแอ จะเข้าทำลายในระยะที่เป็นหนอน โดยจะเข้าไปกัดกินอาหารที่ชันโรงสะสมไว้ภายในรัง ได้แก่ ถ้วยน้ำหวาน เกสร มีการเพิ่มปริมาณประชากรอย่างรวดเร็วส่วนใหญ่รังที่ถูกหนอนแมลงวันลาย เข้าทำลายจะล่มสลายอย่างรวดเร็ว วิธีป้องกัน ควรมีขาตั้งอย่างน้อย 1 ฟุต และมีหลังคาวางกันฝนด้านบนเพื่อป้องกันน้ำเข้ามาในรัง และปากทางเข้ารังควรทำให้น้ำไม่สามารถเข้าได้ และหลีกเลี่ยงการนำรังไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง นอกจากนั้นแล้วในรังที่มีประชากรผึ้งงานน้อยควรมีการเติมกลุ่มไข่แก่จากรังที่แข็งแรงและเป็นชันโรงชนิดเดียวกันเข้าไปเพิ่มเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณผึ้งงานในการดูแลจัดการรังได้ดียิ่งขึ้น ในกรณีที่พบว่ารังเลี้ยงชันโรงถูกหนอนแมลงวันลายเข้าทำลายแต่เป็นระยะเริ่มต้นคือกัดกินถ้วยอาหารภายในรังได้แก่ ถ้วยเกสรและถ้วยน้ำหวานยังไม่ลามมาถึงกลุ่มไข่ สามารถช่วยเหลือรังนี้ได้ด้วยการย้ายกลุ่มไข่แยกจากรังเดิมออกมาใส่ในรังใหม่ โดยอย่าให้หนอนแมลงวันลายติดมาด้วย และเติมอาหารให้โดยตัดจากรังอื่นมาใส่แทนเพื่อป้องกันการขาดอาหารแล้ววางรังนี้ในจุดเดิมให้ประชากรผึ้งวัยสนามกลับเข้ารังใหม่นี้ได้ จากนั้นนำรังเดิมย้ายออกมาและจัดการกับหนอนที่เข้าทำลายโดยการเผาทำลายให้หมดเพื่อป้องกันการลามไประบาดยังรังอื่นๆที่อ่อนแอในบริเวณใกล้เคียงภายในฟาร์ม โดยในช่วงฤดูฝนควรมีการตรวจเช็ครังชันโรงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ที่มา : ชันโรงแมลงตัวจิ๋วแต่ประโยชน์มหาศาล ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่) สำหรับหนอนแมลงวันลายนั้นเมื่อเข้ามาในรังชันโรงจะนับได้ว่าเป็นศัตรูชนิดหนึ่งที่สร้างปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงไม่น้อยแต่ในทางกลับกันหนอนแมลงวันลายนั้นก็เป็นแมลงที่ให้โปรตีนสูงสำหรับเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ไม่เป็นพาหะนำโรค และสามารถกำจัดขยะได้ดี แต่ต้องมีการเลี้ยงในรูปแบบโรงเรือนปิดที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ