เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ที่พบในมันสำปะหลังมี 4 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งแจ็คเบียส เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู สำหรับเพลี้ยแป้งที่ทำความเสียหายให้กับมันสำปะหลังอย่างรุนแรงคือ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ซึ่งเป็นแมลงศัตรูต่างถิ่น ลักษณะการทำลายเพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ ยอด และตา ส่งผลต่อคุณภาพท่อนพันธุ์ หัวมีขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ หากการระบาดรุนแรงยอดจะแห้งตาย ถ้ามีระบาดในช่วงที่มันสำปะหลังอายุน้อย อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังตายหรือไม่สามารถสร้างหัวได้ ซึ่งเพลี้ยแป้งนี้จะระบาดรุนแรงในฤดูแล้งมากกว่าในฤดูฝน โดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แปลงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงความเสียหายเกิดขึ้นเกือบ 100 % ส่วนการแพร่ระบาดนั้น ตัวอ่อนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสามารถเคลื่อนที่ได้จึงเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ บนต้นมันสำปะหลัง มีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้นมันสำปะหลัง กระแสลมพัดพาไข่และตัวอ่อนไปยังต้นอื่น อีกทั้งท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเป็นสาเหตุหลักในการแพร่กระจายและติดไปกับเกษตรกรที่ปฏิบัติงานในแปลงที่มีการระบาดและเครื่องมือการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1)ไถและพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดิน 2)ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 3) แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารกำจัดแมลง เป็นเวลา 5 – 10 นาที ได้แก่ ไทอะมิโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร 4) ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู รวมทั้งการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติชนิดอื่น เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ ผีเสื้อหางติ่งตัวห้ำ และแตนเบียนชนิดอื่น ๆ งดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงพ่นในแปลงมันสำปะหลัง ในช่วงที่พบแมลงศัตรูธรรมชาติบนต้นมันสำปะหลัง หรือช่วงหลังจากการปล่อยศัตรูธรรมชาติใหม่ ๆ 5) หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ตัดยอดหรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงและพ่นสารกำจัดแมลงบริเวณที่พบและบริเวณโดยรอบที่มีการระบาดทันที สารเคมีแนะนำได้แก่ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม หรือโพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร ที่มา : https://doaenews.doae.go.th/archives/25896
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จัดทำโดย : สำนักงานเกษตรอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา https://www.facebook.com/Sikhio.doae2563
30. การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ภาพจาก : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว