เฝ้าระวังร้อน แล้ง แมลงศัตรูพืชตัวร้าย
เพลี้ยไฟ
- ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะส่วนอ่อนหรือส่วนเจริญของพืช เช่น ตา ใบอ่อน ดอก ลักษณะอาการที่ถูกทำลาย จะมีอาการหงิกงอเป็นคลื่น มีสีขาวซีด หรือถ้ามีการทำลายรุนแรง อาจส่งผลให้พืชเป็นรอยดำด่างสีน้ำตาล เหี่ยวแห้ง
ไรแดง
- ไรแดงจะใช้ปากเจาะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบพืชและดอก ใบพืชที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเป็นจุดด่าง ๆ สีเหลืองแล้วทำให้ใบหงิกงอ ห่อลง ไรแดงมีรูปร่างคล้ายกับแมงมุม ขนาดเล็กมาก สีแดง ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม หากมีปริมาณมากจะสร้างเส้นใยคล้ายแมงมุม คลุมทั้งต้นทั้งใบ
เพลี้ยแป้ง
- เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวมีสีขาวคล้ายแป้งปกคลุม ไม่มีปีก จะเกาะกลุ่มดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ยอด ตา ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ แคระแกร็น หากระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นแห้งตาย
เพลี้ยอ่อน
- ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ทำลายพืช โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทั้งส่วนยอด ใบอ่อน และใบแก่ ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัด คือ ส่วนยอด และใบจะหงิกงอ เมื่อจำนวนเพลี้ยอ่อนเพิ่มมากขึ้น พืชจะเหี่ยว ใบที่ถูกทำลาย จะค่อย ๆ มีสีเหลือง
หนอนกออ้อย
- หนอนเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของส่งผล ให้ผลผลิตอ้อยลดลง นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่และแตกยอดพุ่ม
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด
- ผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะวางไข่บนต้นข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอก 2-3 วัน โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบน ใต้ใบ และที่ลำต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เริ่มเห็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบ ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยปลิวไปกับลม หนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก กัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่งยอดกุด ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย
เรียบเรียงโดย : สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท